วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ดูแลสุขภาพ : กรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนเมือง : วันจันทร์ที่ 23 ม.ค. 55

ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่



ดูแลสุขภาพ : กรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนเมือง : วันจันทร์ที่ 23 ม.ค. 55


อาการเหมือนมีน้ำย่อยขมๆ ไหลย้อนมาที่คอ แสบร้อนยอดอก ท้องอืด แน่นท้อง หรือรู้สึกจุกที่คอ หลังอาหารมื้อหลักมักจะคลื่นไส้อาเจียน เป็นสัญญาณเตือนของภัยเงียบที่เรียกว่า “โรคกรดไหลย้อน”

โรคกรดไหลย้อนไม่ได้เป็นโรคแปลกใหม่สำหรับคนไทย เป็นโรคที่พบมานานแล้ว เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารอย่างผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ หลอดอาหารส่วนปลายมีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ความดันของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารต่ำกว่าปกติ หรือเกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร รวมถึงพันธุกรรมอีกด้วย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค

พฤติกรรมการบริโภค ที่หันไปใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก ตื่นเช้ามาก็เร่งรีบไปทำงาน ไม่ค่อยกินข้าว กินแต่กาแฟ แถมยังชอบกินอาหารเย็นหนักๆ แล้วก็นอน อาหารจึงยังตกค้างอยู่ในกระเพาะ ร่างกายก็ต้องหลั่งกรดออกมาย่อยอาหารที่ยังตกค้างอยู่ ประกอบกับท่านอนไม่ถูกต้อง หัวเสมอ หรือต่ำกว่าลำตัว ทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่ลำคอ เกิดอาการแสบระคายเคืองขึ้นมาบนคอ

ลักษณะของโรค

มักเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ ถ้าปล่อยให้หลอดอาหารส่วนปลายระคายเคืองไปนานๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งนำไปสู่ มะเร็งหลอดอาหาร ได้ในที่สุด

อาการชวนสงสัยว่าเป็นโรค

อาการแสบยอดอก (Heartburn) ขย้อน หรือสำรอก (Regurgitation) รู้สึกเปรี้ยว (กรด) หรือขม (ด่าง) ในปาก หรือบริเวณช่องคอด้านหลัง เรอ, จุก, เสียด, แน่นในคอหรือหน้าอก นอกจากนี้อาจมีอาการอันเนื่องจากกรดระคายบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม เช่น เสียงแหบ ไอหรือกระแอมบ่อยๆ เจ็บคอเรื้อรัง ปอดอักเสบ ฟันผุ มีกลิ่นปาก เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค

แพทย์สามารถวินิจฉัยจากอาการที่ชัดเจน ให้การรักษาเบื้องต้น และติดตามดูอาการ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการสำคัญชัดเจน หรือมีอาการร่วมอื่น หรือได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การตรวจทางรังสีวิทยา การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดการเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่า ได้ผลแม่นยำและดีที่สุดในปัจจุบัน

การรักษา

ควรมุ่งควบคุมอาการให้เหลือน้อยที่สุด หลักใหญ่อาศัยการปรับเปลี่ยนอาหารการกิน และวิถีชีวิตของผู้ป่วย ประสานกับการกินยาเท่าที่จำเป็น ซึ่งการปรับเปลี่ยนอาหารนั้นเน้น 2 เรื่องใหญ่ คือ
1. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดผ่อนคลายไม่กระชับ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน น้ำมัน ของทอดและอาหารที่มีไขมันสูงทั้งหลาย นมเต็มส่วน อาหารที่ผสมครีม อาหารขยะ เป็นต้น สำหรับผู้ที่น้ำหนักเกิน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมน้ำหนัก
2. หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ชา กาแฟ กระเทียม หัวหอม พริกและอาหารเผ็ดร้อน หน่อไม่ฝรั่ง ไข่ พาสต้า ก๋วยเตี๋ยว แป้ง ข้าวโพด ลูกพรุน ส้ม น้ำมะเขือเทศ น้ำอัดลม และน้ำตาล เป็นต้น

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
- อย่ากินอิ่มเกิน กินน้อยแต่หลายมื้อได้
- อย่ากินอย่างเร่งรีบ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
- อย่าดื่มน้ำมากพร้อมอาหาร
- กินอาหารแล้วห้ามออกกำลังกายหรือนอนทันที ควรทิ้งช่วงประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- อย่าก้ม (โดยเฉพาะช่วงหลังอาหาร)
- อย่าใส่เข็มขัด หรือเสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป
- ระหว่างนอน ควรยกหัวเตียงให้ลาดสูงขึ้นประมาณ 6-8 นิ้ว
- ที่สำคัญต้องจัดการกับความเครียด ผ่อนคลายให้มากขึ้น เพราะความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีกรดมาก

----------
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719
----------
(หมายเหตุ : ดูแลสุขภาพ : กรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนเมือง : วันจันทร์ที่ 23 ม.ค. 55)


ที่มา คมชัดลึก


ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...